วัดบางกล้วย ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบางไทร อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
1.อาณาเขต
ทิศเหนือจดคลองบางกล้วยใหญ่
ทิศใต้จดคลองบางกล้วยเล็ก
ทิศตะวันออกจดคลองบางกล้วยเล็ก
ทิศตะวันตกจดสถานีตำรวจ ตำบลบางไทร
2.ลักษณะพื้นที่และเนื้อที่
2.1เนื้อที่วัดประมาณ 19 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา ได้มาโดยการบริจาคและซื้อขยายบริเวณวัด
2.2ภูมิประเทศทั่วไปของวัดเป็นที่ดินสวนมะพร้าว สภาพดินเป็นดินเหนียวปนทราย บริเวณวัดมีคลองล้อมรอบสามด้าน ตลิ่งชันสุูง น้ำไหลเชี่ยว มีเรือยนต์หางยาวแล่นผ่นมาก จึงทำให้ตลิ่งริมคลองรอบบริเวณวัดไหลพังลงคลองตลอดเวลา แนวตลิ่งรอบบริเวณวัดพังถึงด้านละ ประมาณ 20 เมตร เป็นอย่างน้อย จึงจำเป็นต้องสร้างเขื่อนโดยรอบวัด เพื่อป้องกันตลิ่งพัง
ประวัติการสร้างวัดโดยสังเขป
มีผู้บอกกล่าวเล่าให้ฟังว่า แต่เดิม 300 ปีเศษ ที่ผ่านมา มีพระธุดงชาวพม่ากะเหรี่ยง ซึ่งบวชที่วัดเจดีย์ขายแดนไทย พม่า เดินธุดงค์มาปักกรดบนที่ดินของบริเวณวัดนี้ ชื่อหลวงพ่อเน่ย และต่อมาได้สร้างเป็นสำนักสงฆ์ มุงหลังคาด้วยหญ้าคา เรียกสำนักสงฆ์เกาะทับ ต่อมานายเต้าเป็นคนกะเหรี่ยงพม่าได้มาเป็นลูกศิษย์วัด และป่วยมาก มารักษาตัวกับหลวงพ่อเน่ย ภาวนาตัวว่า หากหายป่วยเมื่อใดจะบวชถวายกุศลให้กับผู้รักษา เมื่อนายเต้าหายป่วย จึงได้บวชที่สำนักสงฆ์นี้อีกองค์หนึ่ง ต่อมาขุนสวัสดิ์ หนวดแดง จึงได้มอบที่ดิน 5 ไร่เศษ ให้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์แห่งนี้เป็นครั้งแรก หลวงพ่อเรือง ซึ่งเดิมเป็นพระธุดงค์ บวชอยู่สำนักสงฆ์เขาถ้ำพระได้เดินธุดงค์มาที่สำนักสงฆ์นี้ ซึ่งหลวงพ่อเรืองมีคาถาอาคม ทางรักษา ทางเมตตา นิรภัยอันตรายทั้งปวง เป็นที่เคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านอย่างกว้างขวาง หลังจากหลวงพ่อเน่ยได้มรณะภาพแล้วเมื่ออายุประมาณ 131 ปี หลวงเต้า ซึ่งเป็นศิษย์ได้ทำการสร้างโบสถ์ร่วมกับหลวงพ่อเรือง เป็นอุโบสถที่สร้างด้วยไม้ทั้งหมด ฐานเสาอุโบสถฝึงลึกในดินประมาณ 1 เมตร และรองฐานตีนเสาด้วยไม้แดง และไม้เคี่ยมขนาดหนา 2 นิ้ว กว้าง 10 นิ้ว โดยประมาณ ยาวตลอดแนวของอุโบสถ พื้นอุโบสถอัดแน่นด้วยดินเหนียวผสมทราย พระประธานในอุโบสถสร้างด้วยปูนทรายแร่เช่นกัน หลวงพ่อเต้าละสังขารเมื่ออายุประมาณ 118 ปี
หลวงพ่อเรืองร่วมกับหลวงพ่อปราบลูกศิษย์ได้ทำการก่อสร้างอุโบสถและพระประธานขนาดหน้าตักกว้าง 83 นิ้ว สูง 117 นิ้วต่อไป โดยสร้างฐานพระประธาน และสร้างอาสนะพระสงฆ์หน้าพระประธานจนแล้วเสร็จพื้นปูด้วยทรายแร่ผิวขัดมัน พื้นอุโบสถโดยรอบอาสนะพระใช้ดินเหนียวผสมทรายแร่อัดแน่น ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจได้ หลวงพ่อเรืองได้ละสังขารเมื่ออายุประมาณ 93 ปี
หลวงพ่อปราบได้นำอัฐฐิหลวงพ่อเรืองใส่ผอบเซมามิกสมัยขอมบรรจุไว้ใต้ฐานพระประธานในอุโบสถ (ขุดพบเมื่อเดือนเมษายน 2543) หลวงพ่อปราบได้ทำการผูกพัทธสีมา (ฝังลูกนิมิต) ในเวลาต่อมา (มีหลักฐานปรากฏเหลือให้เห็นคือลูกนิมิตประธาน พร้อมเหรียญสตางค์แดง จำนวนหนึ่งหน้าพระประธาน) พื้นอุโบสถและผนังอุโบสถสร้างไม่เสร็จ หลวงพ่อปราบก็ละสังขารเมื่ออายุได้ประมาณ 89 ปี
ในสมัยหลวงพ่อเต้า หลวงพ่อเรือง และหลวงพ่อปราบ วัดนี้เจริญมาก วัดได้จัดสร้างสิ่งของเครื่องใช้และวัตถุมงคลเป็นจำวนมาก เช่น พระพุทธรูปปางต่าง ๆ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องลายคราม หากแต่สิ่งของเหล่านี้ได้ชำรุด สูญหายไปหมดแล้ว อันเนื่องจกการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองวัด และวัดถูกปล่อยร้างอยูู่ระยะหนึ่ง(หลักฐานวัถุโบราณถูกขุดค้นพบครั้งหลังสุดเมื่อเดือนกันยายน 2543)
18 กุมภาพันธ์ 2456 สำนักสงฆ์วัดบางกล้วย ได้ประกาศเป็นวัดตามกฏหมาย (ตามหลักฐานราชการ) โดยมีพระอธิการหีตเป็นเจ้าอาวาส
ปูชนียวัตถุของวัดในขณะนั้นมีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ จำนวน 2 หลัง ซึ่งสร้างด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้องว่าวสี่เหลี่ยม
10 มกราคม 2460 พระอธิการหีต ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลบางไทร ตำบลบางชนะ ตำบลบางใบไม้ ตำบลป่าเหล้า (คลองน้อย) และอำมาตย์โทหลวงประกาศวุฒิสาร ธรรมการมณฑลสุราษฎร์ธานี อำมาตย์ตรี ขุนโกศลวิทย์ ครูใหญ่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี นายห้วย ปลัดอำเภอบ้านดอน ได้เปิดโรงเรียนขึ้นที่วัดบางกล้วยโดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นโรงเรียนสอนชั่วคราว มีครูวั่น กาฬแก้ว เป็นครูใหญ่ ครูลำยอง และครูขินเป็นครูน้อย มีนักเรียนเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นโรงเรียนแรกของตำบลในบาง
16 สิงหาคม 2461 วัดบางกล้วยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีพระโยคา ธรรมวินิจ เป็นผู้ครองวัด ฝ่ายมหานิกาย มีเจ้าอาวาสรักษาการต่อจากพระอธิการหีตหลายองค์ ในระยะหลังจากนั้นวัดถูกปล่อยร้าง คงเหลือเฉพาะโรงเรียนเท่านั้น
พ.ศ.2464 วัดได้อยู่ในความดูแลปกครองของฝ่ายธรรยุติ ซึ่งมีพระครูโยคาธิการวินิจ วัดธรรมบูชา สุราษฎร์ธานีเป็นผู้อุปการะปฏิสังขรวัดภายหลังจากวัดได้รับการดูแลบูรณะแล้ว พ่อปู่สงฆ์และแม่ย่าทับ ชัยสงคราม ได้ถวายที่ดินวัดเพิ่มอีก 4 ไร่ และได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 10 ไร่เศษ ในภายหลังรวมเนื้อที่ดินทั้งหมด ประมาณ 19 ไร่เศษ
แต่เดิมเส้นทางคมนาคมเข้าสู่วัดนี้มีแต่ทางเรือเท่านั้น การขนวัสดุก่อสร้างก็ดำเนินได้วยความยากลำบากมาก แต่กระนั้นก็มีศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้ และศิษยานุศิษย์ของวัด ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมที่ตำบลนี้ก็ได้ร่วมกันสร้างเชื่อนทางด้านทิศเหนือของวัด ยาวประมาณ 100 เมตร สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ใต้ถุนสูงหนึ่งหลัง กั้นฝาผนังด้วยไม้ชำรุดอย่างมาก กุฏิพักพระหลังอื่น ๆ ก็ชำรุดเช่นกัน ท่าน้ำและศาลาหน้าวัดก็ชำรุดทั้งหมด ทุกอย่างจึงรอการก่อสร้างบูรณะจากผู้มีจิตศรัทธาเท่านั้น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 นายประจวบ บุญฤทธิ์ ได้ชักชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบูรณะวัดตลอดมา
9 กุมภาพันธ์ 2543 เวลา 09.09 น. หลวงพ่อใหญ่พระธรรมธัชมุณี อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ฝ่ายธรรมยุติ เจ้าคณะภาคฝ่ายธรรมธัชมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ฝ่ายธรรมยุติ เจ้าคณะภาคฝายธรรมยุติ พระราชวรญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดฝ่ายธรรมยุติ และพระะภิกษุผู้ใหญ่อื่น ๆ หลายองค์ กำนัน ผุ้ใหญ่บ้าน ข้าราชการผู้ใหญ่ พ่อค้า ประชาชน จำนวนมาก ได้ร่วมกันวางศิลาฤกษ์ สร้างอุโบสถหลังใหม่ของวัดบางกล้วย และบูรณะสิ่งก่อสร้างใหม่ของวัดทั้งหมด
ทำเนียบพระผู้ปกครองวัดบางกล้วย
1.หลวงพ่อเน่ย
2.หลวงพ่อเต้า
3.หลวงพ่อเรือง
4.หลวงพ่อปราบ
5.พระโยคา ธรรมวินิจ
6.พระอธิการหีต
7.พระช้อย
8.พระใบฏีกาสน
9.พระชะแล้ม
10.พระนิกร
11.พระนัด
12.พระปลัดกิมเหี้ยง
13.พระครูโสภณ ปิยจิตโต ตั้งแต่ พ.ศ.2517 - ปัจจุบัน
การบูรณะพระประธานในพระอุโบสถ
7-8 มิถุนายน 2562 คณะผู้มีจิตศรัทธาจากกรุงเทพมหานครร่วมกันบูรณะพระประธานโดยการปิดทองใหม่ทั้งองค์